โครงการธรรมยาตรา

“รักษ์บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) และรักษาศีล 5”

 

การเดินธรรมยาตราของพุทธบุตรธรรมทายาท เพื่อย้อนรอยระลึกถึงเส้นทางการสร้างบุญบารมีตลอดชีวิตของมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

ตลอดชีวิตของพระภิกษุเป็นชีวิตของผู้ทรงภูมิธรรมอันสูงส่ง ในห้วงแห่งสังสารวัฏอันยาวไกลที่อันตรายมากมายนี้ชีวิตนักบวช   เตือนให้เข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ ด้วยว่าชีวิตของผู้ครองเรือนทั่วไปนั้น การดำเนินชีวิตของคนทั้งหลายล้วนต้องวนเวียนอยู่ในเรื่องความรับผิดชอบต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว จึงควรที่จะหาหนทางให้โอกาสแก่ตัวเอง อุทิศเวลาให้กับการสั่งสมบุญคุณความดีเพื่อจะได้เข้าถึงเป้าหมายแห่งความสุขอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน

ชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่ทวนกระแสกิเลสอย่างโลกๆ มีอิสรภาพปลอดโปร่งจากความวิตกกังวลและความผูกพันทั้งหลาย มีความสำรวมสงบอย่างสง่างามน่าเลื่อมใสทั้งในความคิด คำพูดและการกระทำ พระภิกษุจะให้ความจดจ่อสนใจระมัดระวังในศีลของท่านอันเป็นพุทธวินัย การปฏิบัติสมาธิภาวนาและการพัฒนาจิตใจให้มีดวงปัญญาบริสุทธิ์

ธรรมยาตราคืออะไร ?

เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จะต้องผ่านพ้นการฝึกฝนอบรมตนเองในเรื่องวินัย ความเคารพ และความอดทน การเดินธรรมยาตราเป็นบทฝึกอย่างหนึ่งสำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่ คำว่า ธรรมยาตรา มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ธรรมะ” กับคำว่า “ยาตรา”

คำว่า“ธรรมะ” หมายถึง สภาวธรรมความดี ส่วนคำว่า “ยาตรา” หมายถึง ความเป็นไปแห่งชีวิต หรือความออกไปจากทุกข์ ดังนั้นคำว่า ธรรมยาตรา หมายถึง การดำเนินไปด้วยธรรม ซึ่งมีความหมายว่า การดำเนินออกไปจากทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจด้วยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือมีอีกความหมายหนึ่งว่าเป็นธรรมจาริก หมายถึง การเดินทางเพื่อประกาศธรรม นัยสำคัญอยู่ที่การเดินทางเพื่อประกาศธรรมด้วยทางเท้าของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นหมู่ใหญ่ไปยังทุกทิศทุกทางในหลายๆ แห่ง เพื่อเผยแผ่คุณธรรมความดีและยังเป็นกุศโลบายวิธีการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุเพื่อเอาชนะแก้ไขนิสัยความไม่ดีต่างๆ ด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โครงการธรรมยาตราครั้งที่ 12 ซึ่งมีพระภิกษุในพระพุทธศาสนาร่วมเดินธรรมยาตรา โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 2-31 มกราคม พุทธศักราช 2567 ตลอดเส้นทางธรรมยาตรานั้นประชาชนทั่วไปจะได้มีโอกาสอนุโมทนาสาธุการตามเส้นทางที่โปรยด้วยกลีบดอกไม้เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ภาพอันเป็นมงคลยิ่งที่ได้เห็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่พร้อมเพียงกันเดินทางด้วยความสงบสง่างามน่าเลื่อมใส เป็นแรงบันดาลใจสร้างศรัทธาให้แก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และตอกย้ำความประทับใจให้แก่ผู้เลื่อมใสอยู่แล้วย่อมเลื่อมใสหนักแน่นยิ่งขึ้น

การโปรยดอกไม้บนทางเท้าเพื่อต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ได้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล ดังจะเห็นปรากฏจารึกในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำพระสงฆ์สาวก เดินธุดงค์ธรรมยาตรา ด้วยว่าครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่มากเกิดขึ้นที่เมืองไวสาลี ประชาชนเมืองนั้นได้รับทุกขเวทนาจากโรคระบาดร้ายแรงอย่างมากมายจนมีผู้คนล้มตายศพทับถมกองราวกับเป็นภูเขาสูง ในเวลาเช่นนั้นทางการเมืองไวสาลีได้กราบอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับอาราธนาแล้วทรงเสด็จธรรมยาตราพร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ 500รูป ออกจากเมืองราชคฤห์โดยพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงตระเตรียมเส้นทางการเดินทางตลอดระยะ 80 กิโลเมตรด้วยการประดับธงทิวและตราสัญลักษณ์ มีฉัตรมีร่มกางกั้นและโปรยกลีบดอกไม้นานาชนิด 5 สีบนทางเท้า ชาวเมืองที่พักอาศัยตามรายทางต่างออกมาช่วยกันทำความสะอาดถนนหนทาง ต่างก็ช่วยกันประดับตกแต่งพวงดอกไม้อันวิจิตรประณีต พร้อมกับโปรยกลีบดอกไม้นานาชนิด 10 สีเพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชาและต้อนรับการเดินธรรมยาตราของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์

ชีวิตการสร้างบารมีของพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ มหาปูชนียาจารย์ท่านนี้มีความสำคัญต่อเส้นทางการเดินธรรมยาตราอย่างไร?

ตลอดเส้นทางธรรมยาตราของพระธรรมทายาทในโครงการครั้งนี้ นอกจากเป็นโอกาสของท่านทั้งหลายในการฝึกฝนอบรมตนเองแล้ว ยังเป็นการน้อมตรึกระลึกถึงมหากรุณาอันยิ่งใหญ่สุดประมาณของมหาปูชนียาจารย์พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันเปี่ยมล้น ทรงอานุภาพอย่างจะประมาณมิได้ ท่านได้สละชีวิตเป็นเดิมพันในการสั่งสมบุญบารมีตามรอยบาทพระบรมศาสดา อุทิศชีวิตตลอดเวลาเพื่อฝึกฝนตนเองและแนะนำสั่งสอนสาธุชนในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพระธรรมกาย ทำให้มีผู้บรรลุธรรมตามท่านทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นการบรรลุถึงเป้าหมายได้ที่พึ่งแท้จริงอันสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ได้พบพระพุทธศาสนา

ประวัติพระเดชพระคุณหลวงปู่
คำสอนพระเดชพระคุณหลวงปู่

อนุสรณ์สถานสำคัญ 7 แห่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยมหาปูชะนียาจารย์ตามเส้นทางบูชาธรรมของโครงการธรรมยาตรา

1.สถานที่เกิด

ณ โลตัสแลนด์ใน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

2.สถานที่ตั้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต

ณ คลองลัดบางนางแท่น อยู่เหนือตลาดใหม่ แม่น้ำนครไชยศรี อ.สามพราน จ.นครปฐม

3.สถานที่บรรพชาอุปสมบท

ที่วัดสองพี่น้อง คลองสองพี่น้อง เขตต้นตาล จังหวัดสุพรรณบุรี

4.สถานที่บรรลุธรรมกาย

ณ วัดโบสถ์บน อำเภอบางคูเวียง คลองบางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี

5.สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายแห่งแรก

ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

6.สถานที่ปักหลักสอนวิชชาธรรมกาย

ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

7.ศูนย์กลางแห่งการเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก

(เป็นสถานที่ที่มหาปูชนียาจารย์ท่านมีความปรารถนาที่จะให้วิชชาธรรมกายเผยแผ่ไปทั่วโลก) ณ วัดพระธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

อนุสรณ์สถานสำคัญทั้ง 7 แห่งนี้มีประวัติชีวิตของมหาปูชนียาจารย์จารึกไว้ตั้งแต่เรื่องราวที่ท่านสั่งสมบุญบารมีเมื่อครั้งเยาว์วัย และตลอดชีวิตในเพศสมณะที่อุทิศชีวิตในปีต่อๆ มา ในแต่ละอนุสรณ์สถานประดิษฐานองค์จำลองทองคำขนาดใหญ่ของมหาปูชนียาจารย์ ซึ่งสร้างถวายโดยศิษยานุศิษย์จากทั่วทุกมุมโลกเพื่อเป็นกตัญญูบูชาธรรมท่าน และเป็นการให้อนุชนที่ได้มากราบสักการะบูชาได้ตระหนักถึงมหากรุณาและคุณธรรมความดีงามของท่านจะได้เรียนรู้ศึกษาที่มาของอนุสรณ์สถานและพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านสละชีวิตเป็นเดิมพันในการนำวิชชาธรรมกายกลับคืนมาให้แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติจะได้พ้นจากทุกข์ภัยและมีที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง สังคมโลกจะได้พบความสุขสงบที่แท้จริง

พระภิกษุสงฆ์ สาธุชน และสังคมจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเดินธรรมยาตรา

พระภิกษุสงฆ์จะได้มีโอกาสฝึกฝนอบรมตนเองในเรื่องวินัย ความเคารพเลื่อมใส ความอดทน และการใช้ชีวิตยืดหยุ่นเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในหมู่พระภิกษุสงฆ์ อีกประการหนึ่งการเดินเท้าธรรมยาตราเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องระมัดระวังรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รู้จักวิธีการดูแลตนเองที่จะบรรเทาอาการเจ็บป่วยในระหว่างทาง  รู้จักการปล่อยวางข้าวของเครื่องใช้และร่างกาย สละความสะดวกสบาย สละสิ่งของ รวมทั้งฝึกฝนหักห้ามความรู้สึก และเอาชนะใจตนเองต่อสิ่งที่มากระทบอารมณ์ต่างๆ

สำหรับสาธุชนนั้นก็ได้มีโอกาสอนุโมทนาสาธุการต้อนรับพระภิกษุสงฆ์เป็นการเชื่อมสายบุญใหญ่เพราะการได้เห็นธรรมยาตราเป็นมงคลอย่างยิ่ง ผู้ใดมีจิตความเลื่อมใสศรัทธาในการได้อนุโมทนาบุญกับบุญกุศลของพระภิกษุสงฆ์ผู้ทำคุณธรรมความดีด้วยการธรรมยาตราของท่าน ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญอันยิ่งใหญ่สุดจะนับจะประมาณมิได้

โครงการธรรมยาตราครั้งที่ 12 นี้ สาธุชนในพื้นที่จะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมสั่งสมบุญหลายอย่างกับพระธรรมยาตรา คือ

  1. ทำความสะอาดและบำรุงรักษาวัดในชุมชน
  2. ได้ฟังพระธรรมเทศนา
  3. ได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า-สวดมนต์ทำวัตรเย็น และสวดมนต์บทธรรมจักกัปปวัตนสูตร
  4. นั่งสมาธิเจริญภาวนา
  5. ถวายภัตตาหารเช้า
  6. ทำบุญสังฆทาน
  7. ร่วมกันโปรยกลีบดอกไม้เพื่อต้อนรับพระธรรมยาตรา
  8. ร่วมกันจุดโคมประทีปเป็นการสักการบูชาแด่พระรัตนตรัยและบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามรอยพุทธประเพณีเป็นการปลูกฝังให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่ชนที่อยู่ร่วมกัน ทั้งที่บ้าน ที่วัด และโรงเรียนในชุมชนนั้นๆ ปลูกฝังความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้เยาวชนและสังคมทุกหมู่เหล่า ให้ทุกๆ คนได้มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมชาวพุทธ ซึ่งจะทำให้เกิดความรักความอบอุ่นดูแลเอาใจใส่กัน ความมีเมตตาธรรมต่อกัน ความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ความอ่อนน้อมถ่อมตน การที่ได้มีความรักในพระพุทธศาสนาและอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาจะช่วยกันธำรงพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรสืบไปจนเป็นมรดกการสร้างความดีแก่ลูกหลานเยาวชนรุ่นหลังต่อๆมา

ฉะนั้นโครงการธรรมยาตราเป็นโครงการที่มีคุณประโยชน์อย่างมากมาย โดยเริ่มต้นมาจากการที่พระภิกษุสงฆ์ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ฝึกฝนตนเองให้มีความบริสุทธิ์ทั้งความคิด คำพูด การกระทำ เพื่อให้เป็นต้นบุญต้นแบบแก่สาธุชนทั้งหลาย ข้อวัตรปฏิบัติในกิจวัตรกิจกรรมในการทำความดีของพระภิกษุสงฆ์เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีเยี่ยมเพื่อให้ทุกคนทำความดี การกระทำความดีของทุกๆ คนต่อๆ กันไป มีคนดีเพิ่มขึ้นทุกหนแห่งย่อมมีผลแผ่ขยายไปสู่ทุกหนแห่งทั่วทุกๆ ประเทศและย่อมนำสันติสุขมาสู่ชาวโลกในที่สุด

สันติภาพโลกเกิดจากสันติสุขภายใน

พระภิกษุคือใคร
คำอธิษฐานจิตและอานิสงส์
โปรยดอกไม้ต้อนรับพระธรรมยาตรา
คำอธิษฐานจิตและอานิสงส์
การจุดโคมประทีป