คำสอนพระเดชพระคุณหลวงปู่สดวัดปากน้ำภาษีเจริญ

หมวด 1 การทำบุญ

การหาทรัพย์

“ในโลกมนุษย์ ถ้าเรามีบุญเสียแล้ว จะค้าขายก็ร่ำรวย จะทำงานทำกิจการอะไรก็เจริญ จะหาทรัพย์สมบัติก็ได้คล่องสะดวก สบายไม่ติดขัดแต่ประการใด

ถ้าว่าไม่มีบุญแล้วจะทำอะไรก็ติดขัดไปเสียทุกอย่างทุกประการ
ดังนั้น จึงได้ชวนพวกเราให้มาทำบุญ ทำกุศลเสีย จะได้เลิกจนเลิกทุกข์ยากลำบากเสียที”

 

นึกถึงบุญ

“ ต้องนึกถึงบุญ สิ่งอื่นอย่าไปนึก นึกถึงบุญแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อต้องภัยได้รับความทุกข์ยากลำบากอย่างใด…ก็ให้นึกถึงบุญ เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญ  ทำมาค้าขายอะไรก็ให้เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญนั้น… จะได้ค้าขายคล่องได้กำไรเกินควรเกินค่า…”

 

การทำบุญเลี้ยงพระ

การทำบุญเลี้ยงพระเช่นนี้ถูกต้องตำรับ ตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ทรงรับสั่งไว้ว่า “ โภชนํ ภิกฺขเว ททมาโน ทายโก” ทายกผู้ให้ทานโภชนาหาร

 “ ปฏิคฺคาหกานํ ปญฺจ  ฐานานิ เทติ”  ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ประการแก่ปฏิคาหก

“ กตมานิ ปญฺจ ฐานานิ” ฐานะ ๕ประการเป็นไฉน

“อายํ เทติ” ชื่อว่าให้อายุประการหนึ่ง

“วณฺณํ เทติ” ชื่อว่าให้วรรณะปประการหนึ่ง

“สุขํ เทติ” ชื่อว่าให้ความสุขประการหนึ่ง

“พลํ เทติ” ชื่อว่าให้กำลังประการหนึ่ง

“ปฏิภาณํ เทติ” ชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดประการหนึ่ง…

ที่มา,หน้า ๔๐๓ บรรทัดที่ ๒๕-๒๘ หน้า๔๐๔ บ,๑-๓ (กัณฑ์ที่๓๐ ภัตตานุโมทนากถา ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

การรักษาดวงบุญ

เมื่อเราได้บุญแล้ว เราจะทำอย่างไร เราจะรักษาบุญอย่างไร เพราะเราไม่เห็นบุญ…

เราต้องเอาใจไปจรดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ของเรา ทำใจให้หยุดให้นิ่ง บังคับใจให้หยุดให้นิ่งว่าบุญของเรามีอยู่ตรงนี้ ถ้าพอใจหยุดได้แล้วและถูกส่วนเข้าแล้ว

เราจะเห็นดวงบุญของเรา…เห็นชัดเจนทีเดียว ถ้าเราไปเห็นดวงบุญเช่นนั้น เราจะปลาบปลื้มใจสักเพียงใด ย่อมดีอกดีใจเป็นที่สุด…จะหาเครื่องเปรียบเทียบไม่ได้เลย.

ที่มา,หน้า ๔๐๔ บรรทัดที่ ๑๑-๑๕  (กัณฑ์ที่๓๐ ภัตตานุโมทนากถา ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ทาน คือ การให้

“ทาน”การให้นี่เป็นนโยบายของบัณฑิตทั้งหลาย แต่ไหนแต่ไรมา คนมีปัญญาแล้วก็ต้องให้ทาน ถ้าคนโง่แล้วเห็นว่าสิ้นหมดไป ถ้าว่าคนมีปัญญาแล้วเห็นว่ายิ่งให้ยิ่งมียกใหญ่

การให้นั้นแหละเป็นข้อสำคัญนัก ไม่ต้องไปขอร้องใคร ทำอะไรสำเร็จหมดด้วยการให้ แต่ว่าต้องฉลาดให้ ถ้าโง่ให้ยิ่งจนใหญ่ ถ้าฉลาดให้ยิ่งให้ยิ่งรวยใหญ่ ฉะนั้นการให้ ถ้าอยากมีสมบัติยิ่งใหญ่มหาศาลละก็ต้องอุตส่าห์บำเพ็ญทาน บริจาคทานนี้ได้ชื่อว่า “ทานญฺจ” ทานคือการให้.

ที่มา,หน้า ๗๓๖/๗๓๗/๗๓๘ บรรทัดที่ ๑๕/๑๓/๙  (กัณฑ์ที่๕๗ สังคหวัตถุ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

บริจาคทานในพระพุทธศาสนา ให้เป็นกลาง (สังฆทาน)

อุบาสกอุบาสิกา บริจาคทานในพระพุทธศาสนา ให้ให้เป็นกลาง ไม่ค่อนข้างตนและหมู่ตนพวกตน ให้ให้เป็นกลางอย่างนั้น ได้ชื่อว่าบริจาคทานถูกทางสงฆ์ ถูกประมุขของบุญทีเดียว ถูกเป้าหมายของบุญทีเดียว

ถ้าต้องการบุญ ก็ถวายในพระสงฆ์ ไม่เจาะจงภิกษุองค์หนึ่งองค์ใด มั่นหมายไปในหมู่พระสงฆ์ทีเดียว จะมีข้าวถ้วยปลาตัวก็ช่าง มีสิ่งอันใดก็ช่าง ก็ถวายพระสงฆ์ ให้ใจตรงเป้าเป็นกลาง ให้ทำดังนี้จะถูกบุญใหญ่ในพระพุทธศาสนา.

ที่มา,หน้า ๓๒๘ (กัณฑ์ที่ ๒๔ เกณิยานุโมทนาคาถา ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ 

เราเป็นพุทธศาสนิกชน หญิงก็ดีชายก็ดี เมื่อเราจะแสวงหาบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนา จะบำเพ็ญในโลกกับเขา ถ้าไม่พบพระพุทธศาสนาไม่พบพระสงฆ์แล้ว เสียคราวเสียสมัยที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าว่าพบพระพุทธศาสนาพบพระสงฆ์เข้าแล้ว บุญลาภอันล้ำเลิศ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทีเดียว

พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ ต้องการบุญเท่าไหร่ ก็โกยเอาซิ ตวงเอาซิ ตามความปรารถนา ปฏิบัติวัตรฐากเข้าซิ จะได้บุญยิ่งใหญ่ไพศาล.

ที่มา,หน้า ๓๓๔ บ.๔ (กัณฑ์ที่ ๒๔ เกณิยานุโมทนาคาถา ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

การบริจาคทาน

การบริจาคทาน ถ้าถูกทักขิไณยบุคคล ก็เป็นผลยิ่งใหญ่ไพศาล ถ้าไม่ถูกทักขิไณยบุคคลแล้ว ผลนั้นก็ทรามต่ำลง ก็ผลนั้นรุนแรงสูงขึ้น มีกำลังกล้าขึ้น

ทักขิไณยบุคคลนั่นแหละ เป็นบุคคลซึ่งควรทาน ทานสมบัติเป็นเครื่องเจริญผล

พระพุทธเจ้าพระอรหันต์เมื่อมีพระชนม์อยู่ ก็มีการให้อย่างนี้ จึงเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ ถ้าปราศจากการให้อย่างนี้แล้ว เจริญรุ่งเรืองอยู่ไม่ได้ เมื่อให้ความเจริญแก่พระพุทธศาสนาแล้ว ความเจริญก็หันเข้าสู่ตัวไม่ต้องไปสงสัย ได้ชื่อว่าให้ความเจริญแก่ตัวนั่นเองทีหลัง.

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๐๖, ๒๑๓ (กัณฑ์ที่ ๖ สังคหวัตถุ  (๒๐ กันยายน ๒๔๙๖)

 

ศาสนาพุทธ อยู่ได้ด้วยการให้

ศาสนาพุทธนี้ อยู่ได้ด้วยการให้ ถ้าเลิกให้กันเสียสักเดือนเดียว ข้าวปลาอาหารไม่ให้กันละ หยุดกันหมดทั้งประเทศ ทุกบ้านทุกเรือนไม่ให้กันละ ศาสนาดับ พระเณรสึกหมด หายหมดไม่เหลือเลย นี่เพราะอะไร เพราะการให้นี่เอง

การให้นี่สำคัญนัก เพราะทุกคนอยู่ได้ด้วยการให้ทั้งนั้น ท่านจึงได้ยืนยันเป็นตำรับตำราว่า ให้โภชนาหารอิ่มเดียว ได้ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ เป็นที่ปรารถนาของคนทั้งหลาย. BBB

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๑ (กัณฑ์ที่ ๖ สังคหวัตถุ  (๒๐ กันยายน ๒๔๙๖)

 

ดวงบุญช่วย

เมื่อสละไทยธรรมเสร็จ ขาดลงไป มอบให้แก่พระภิกษุ พระภิกษุรับ เป็นสิทธิใช้ได้บริโภคได้ ให้เด็กให้เล็ก ให้ใครก็ได้ เป็นสิทธิ์ของผู้รับ ขาดจากสิทธิ์ของผู้ให้ขณะใด ขณะนั้นแหละ ปุญฺญาภิสนฺทา บุญไหลมาจากสายธาตุสายธรรม  ของตัวเองโดยอัตโนมัติ เข้าสู่อัตโนมัติ คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ในกลางกายมนุษย์นี้ กลางดวงนั่นแหละ เป็นที่ตั้งของบุญ บุญไหลมาติดอยู่กลางดวงนั้น

เมื่อต้องภัยได้ทุกข์อะไร จรดอยู่ดวงบุญนั้น ให้ดวงบุญนั้นช่วย อย่าไปนึกถึงสิ่งอื่นนะ นึกถึงบุญกุศลที่ตนกระทำนั้นแหละ เป็นที่พึ่งของตัวจริง ช่วยตัวได้จริงๆ. BB

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๔ – ๒๑๕ (กัณฑ์ที่ ๖ สังคหวัตถุ  (๒๐ กันยายน ๒๔๙๖)

 

สำคัญ คือ การให้

ทานํ เทติ ทานการให้ คนเราจำเป็นต้องให้ทุกคน ถ้าไม่สละ ไม่ให้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่ให้กันแล้ว จะได้ประโยชน์อย่างไร หากให้กันแล้ว จึงจะได้ประโยชน์ แต่ว่าต้องให้โดยไม่มุ่งหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทน จึงจะเป็นทานแท้ๆ ถ้ามุ่งหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่เป็นทาน

ถ้าว่าคนมีปัญญาฉลาดอย่างนี้ ตระกูลของตนจะใหญ่โตสักปานใดก็ตาม ให้ให้หนักเข้า คนก็จะมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นสุขขึ้น กินก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข ทั้งกาย วาจา และใจ เพราะการให้นั่นแหละเป็นตัวสำคัญ

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๑ – ๔๒  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

 

วัตถุทาน

บุญนั้น ไม่ใช่มองไม่เห็น มองเห็นได้ บุญนั้นอยู่ที่ไหน รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร เราทำให้ถูกส่วนเข้า จึงจะมองเห็นบุญอย่างแน่แท้ โดยไม่ต้องสงสัย

การทำบุญ ต้องทำให้ถูกส่วน ถูกส่วนตรงไหน คือนำเครื่องไทยทานวัตถุ มาถวายพระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์รับเครื่องไทยทานวัตถุจากมือของผู้ให้ เครื่องไทยทานขาดจากสิทธิของผู้ให้ เป็นสิทธิของผู้รับขณะใด ปุญญาภิสันทา บุญไหลมาในขณะนั้น

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๖  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

 

บุญทำให้สะดวกสบาย

ถ้าเรามีบุญเสียแล้ว จะค้าขายก็ร่ำรวย จะทำงานทำกิจการอะไรก็เจริญ จะหาทรัพย์สมบัติก็ได้คล่อง สะดวกสบายไม่ติดขัดแต่ประการใด ถ้าว่าไม่มีบุญ จะทำอะไรก็ติดขัดไปเสียทุกอย่างทุกประการ

ดังนั้น จึงได้ชักชวนพวกเราให้มาทำบุญทำกุศลเสีย จะได้เลิกจน เลิกทุกข์ยากลำบากเสียที

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๕๒  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

 

ต้องนึกถึงบุญ

เราแสวงหาบุญสร้างบารมี บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ได้บุญแล้ว ให้ใจจรดอยู่ที่บุญนั้น เมื่อประสบภัยได้ทุกข์ยากประการใด ก็นึกถึงบุญนั้น อย่าไปนึกสิ่งอื่นให้เหลวไหล

ต้องนึกถึงบุญ อย่างอื่นอย่าไปนึก นึกถึงบุญแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อต้องภัยได้ความทุกข์ยากลำบากอย่างใด ก็ให้นึกถึงบุญ เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญ ทำมาค้าขายอะไร ก็ให้เอาใจไปจรดที่บุญนั้น จะได้ค้าขายคล่อง ได้กำไรเกินควรเกินค่า

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๕๕ – ๕๖  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

 

หมวด 2 การรักษาศีล

ศีลเป็นทางมาแห่งทรัพย์

“ เสียทรัพย์เสียไป ศีลอย่าให้เสีย ต้องรักษาไว้ ศีลเป็นสิ่งที่สร้างทรัพย์เจ้าทรัพย์…

ถ้าว่ามีศีลละก็… ได้ชื่อว่าเป็น คนดี คนบริสุทธิ์แล้ว เป็นเจ้าทรัพย์
ทรัพย์ดึงดูดในโลกให้มาหา… ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร ให้บริสุทธิ์จริงๆนะ อย่าบริสุทธิ์จอมปลอม ไม่ได้นะ…”

 

การบำเพ็ญกุศล ด้วยการมีปิยวาจา

ถ้าว่า….หัดวาจาไพเราะเสียในชาตินี้ ชาติต่อๆไปวาจาของตน จะพูดอะไรก็สำเร็จกิจหมดทุกอย่าง ถ้าใช้วาจาหยาบก็เท่ากับวาจาจอบตัวเอง ในชาตินี้ก็ดีวาจาหมดอำนาจหมดสิทธิ์ ไม่มีอำนาจอะไร พูดไปก็เท่ากับไม่ได้พูด พูดอะไรเป็นไม่สำเร็จ เพราะวาจาของตน ไม่ได้บำเพ็ญกุศลทางวาจาไว้ ถ้าบำเพ็ญกุศลทางวาจาไว้แล้ว กล่าววาจาใดวาจาศักดิ์สิทธิ์ เรื่องวาจาศักดิ์สิทธิ์ นี่ไม่ได้เป็นของพอดีพอร้ายสำคัญนัก.

ที่มา,หน้า ๗๓๘ บรรทัดที่ /๑๔/  (กัณฑ์ที่๕๗ สังคหวัตถุ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

สุรา คือ โมหะ

ศีล ๕ สิกขาบท สุราเป็นตัวสำคัญ ตัวสำคัญทีเดียว  แบบเดียวกัน โลภะ โทสะ โมหะ ๓ ข้อนี้ ใครเป็นสำคัญ โมหะเป็นสำคัญ ตัวหลงเป็นตัวสำคัญ

ถ้าว่าไม่มีศีลจริงแล้ว จะอวดว่าปฏิบัติศาสนาล่ะโกงตัวเอง ไม่ทำตัวเองให้พ้นจากทุกข์ได้ ตัวเองจะต้องอยู่ในปลักกิเลสนั่นเอง เปลื้องตนพ้นกิเลสไม่ได้ เหตุนี้ต้องคอยระแวดระวัง…

ที่มา,หน้า ๒๓๐ (กัณฑ์ที่ ๑๗ ศีลเบื้องต่ำและศีลเบื้องสูง ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ไม่โกงตัวเอง

ถ้าความบริสุทธิ์ไม่มีละก็อายนัก

เป็นคนสุมสี่สุ่มห้า โกงตัวเอง อายนัก ไม่กล้าจะทำได้

ให้บริสุทธิ์ไว้ ไม่โกงตัวเอง พิจารณาศีล๕ให้บริสุทธิ์

ไม่มีไม่บริสุทธิ์แล้วก็อาย อายและสะดุ้งกลัวด้วย

จะได้รับผลชั่วแล้วเจ้า เพราะไม่บริสุทธิ์

ที่มา หิริโอตตัปปะ๒  น.๘๖๖

 

สำรวมตามพระปาฏิโมกข์

สำรวมตามพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี

ถ้าไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์มีความอายนัก มีความสะดุ้งกลัวนัก

อายว่าเป็นพระไม่บริสุทธิ์ ตายไปต้องไปนรก ไม่ต้องไปไหน

ถ้าว่าทำตัวให้บริสุทธิ์เป็นอันดี ได้ชื่อว่า “ สุกฺกธมฺมสมาหิตา”

เกื้อกูลแล้วในธรรมอันขาว…

(ที่มา หิริโอตตัปปะ๑ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ น.๘๖๐ บ.๒๑ )

 

บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ

มนุษย์ชายหญิงทุกถ้วนหน้า ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต บริสุทธิ์สนิททั้งกาย วาจา จิต ไม่มีผิดจากความประสงค์ของพระพุทธเจ้าอรหันต์เลย ในศีลทั้ง ๕ นี้ตลอด ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ตลอดสะอาดสะอ้านทั้งกาย กายก็ไม่มีร่องเสีย วาจาก็ไม่มีร่องเสีย ใจก็ไม่มีร่องเสีย ใช้ได้ทั้งกายวาจาใจ ตรงกับบาลีกล่าวไว้ว่า

สพฺพปาปสฺส อกรณํ        ชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ไม่กระทำเป็นเด็ดขาด

กุสลสฺสูปสมฺปทา            ดีด้วยกาย วาจา ใจ ทำจนสุดสามารถ

สจิตฺตปริโยทปนํ  ทำใจของตนให้ผ่องใส

นี้เรียกว่าธรรมโดยทางปริยัติ

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๘๓ – ๘๔ (กัณฑ์ที่ ๑๒ ธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม ๑๒ มกราคม ๒๔๙๗)

 

ศีล 5

สีลํ รกฺขติ หากว่ามีคนมากเช่นนี้ คือตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เราต้องรักษาศีล ต้องบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา และบริสุทธิ์ใจ มีศีลด้วยกันทั้งหมด ศีล ๕ คือปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมฯ มุสาฯ สุราฯ

ห้าสิกขาบทนี้ ต้องบริสุทธิ์จริงๆ ควรระวังให้ดี อย่าให้เหตุเหล่านี้เข้าครอบงำได้ ตนเองจึงจะเป็นสุขกายสุขใจ มีคนเท่าไรก็เป็นสุข ไม่ต้องเดือดร้อนเลย แต่เป็นสุขอย่างธรรมดาเท่านั้น ถ้าจะให้เป็นสุขและฉลาดยิ่งขึ้นไป ต้องเจริญภาวนา

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๓ – ๔๔  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

                  

หมวด 3 การเจริญภาวนา

พระรัตนะในศูนย์กลางกาย

“ร่างกายพระสิทธัตถะไม่ใช่พุทธรัตนะ พระสิทธัตถะทรงกระทำความเพียร อยู่ถึง๖พรรษา จึงพบพระรัตนะอันลี้ลับซับซ้อนอยู่ในพระองค์ คือ กายธรรม มีสัณฐานเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม มีสีใสเหมือนกระจก ปรากฎอยู่ในศูนย์กลางกาย…

ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง ต้องทำเสมอ ทำเนืองๆ ในทุกอริยาบถ ไม่ว่า นั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไป อย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่ง ไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง…

 

แก่นของพระพุทธศาสนา

เราก็เกิดมาประสพพบพระพุทธศาสนา พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี่แก่นศาสนา มีตัวจริงศาสนา อยู่ในตัวของเรา เป็นลำดับของกายเข้าไป อย่าไปทางอื่นนะ ต้องไปทางหยุดอย่างเดียว หยุดให้ถูกส่วน หยุดให้เข้ากลาง หยุดให้ถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนา ทำตามที่พระองค์รับสั่งไว้ในปฐมเทศนา ให้แน่นอนอย่างนี้ จะได้เข้าถึงตัวจริงเช่นนี้ เดินตามมัชฌิมาปฏิปทา ไปทาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ไปเป็นลำดับนั้นจึงเข้าถึง ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นตถาคตเจ้าแท้ๆ.

ที่มา,หน้า ๗๕๖ บรรทัดที่ /๒๐/  (กัณฑ์ที่๕๗ สังคหวัตถุ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ทำใจหยุดนิ่งปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า

ถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชน เชื่อพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าละก็ ต้องทำใจให้หยุด หยุดอยู่ที่กลางของธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ นั่นแหละหยุด นั่ง นอน ยืน เดิน ให้หยุดร่ำไป  หยุดได้ นั่นแหละ ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ นั่นแหละเป็นทางบริสุทธิ์ละ

ที่มา,หน้า ๑๓๙ บรรทัดที่  ๔  (กัณฑ์ที่ ๙  เบญจขันธ์ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖)

 

การละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

เราต้องละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ละอย่างไร?  เราต้องเดินในช่องทางของ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะนี่เอง ใจต้องหยุด ต้องหยุดทีเดียวถึงจะละ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้ เริ่มต้นต้องหยุดเชียว พอหยุดกึ๊กเข้าก็ได้การทีเดียว อ้อ! พอหยุดกึ๊กเข้า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดับหมด ถ้าว่าไม่หยุดละก็  เป็นไม่ได้การทีเดียว ไปไม่รอดไม่พ้นทีเดียว.

ที่มา,หน้า ๒๐๐ บรรทัดที่๑และ  ๑๙๙บ.๒๕  (กัณฑ์ที่ ๑๖  เขมาเขมสรณาคมน์ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

หยุดคำเดียว

หนทางหมดจดวิเศษนั้นคืออะไร?  หยุดคำเดียวเท่านี้แหละ ตั้งแต่ต้นจนพระอรหัตทีเดียว ถ้าหยุดไม่ได้ก็ไม่ถูกทางไป ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ถ้าหยุดได้ก็ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ หยุด นั่นแหละเป็นหนทางหมดจดวิเศษ ยืนยันด้วยตำรับตำราว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี ยังรับรองอย่างนี้อีก สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี.

ที่มา,หน้า ๒๐๖ บรรทัดที่ ๒๑,๒๗ หน้า๒๐๗บ.๓ (กัณฑ์ที่ ๑๕  ติลักขณาทิคาถา ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗)

                               

นึกถึงความเสื่อมของร่างกาย

ความเสื่อมน่ะ จะนึกที่ไหน นึกถึงในตัวของเรานี่ อัตภาพร่างกายนี้ไม่คงที่เลย…

…นี้แหละเจอละ ทางไป ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นหนทางหมดจดวิเศษทีเดียว นึกถึงความเสื่อมอันนั้น นึกถึงความเสื่อมได้เวลาไรละก็ บุญกุศลยิ่งใหญ่เกิดกับตนเวลานั้น ให้นึกอย่างนี้ นี่เป็นข้อสำคัญ…

ที่มา,หน้า ๒๑๘ (กัณฑ์ที่ ๑๖ ปัจฉิมวาจา ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

เห็นได้ด้วยการปฏิบัติสมาธิ

สมาธิโดยทางปริยัติ โดยทางปฏิบัติ… แต่ว่าสมาธิโดยทางปริยัติไม่เห็น ผู้ทำสมาธิไม่เห็น นั่นสมาธิในทางปริยัติ  ถ้าสมาธิในทางปฏิบัติ เห็นปรากฏชัด เห็นปรากฏชัดดังนั้น ถ้าสมาธิตรงข้างในดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เช่นนี้ละก็ ถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนาทีเดียว

ที่มา,หน้า ๒๕๐ บ.๙,๑ (กัณฑ์ที่ ๑๗ สมาธิเบื้องต่ำและสมาธิเบื้องสูง ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ดับทุกข์กามตัณหา

ที่จะหมดสิ้นไป ไม่เป็นทุกข์ เราจะทำอย่างไร… ต้องดับ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวะตัณหา ทุกข์เหล่านั้นจึงจะหมด ถ้าไม่ดับกามตัณหา ทุกข์ไม่หมดหรอก ถ้าดับเสียได้เป็นอย่างไร ถ้าดับเสียได้ก็เป็นนิโรธนะซี นิโรธเขาแปลว่าดับ จะเข้าดับ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวะตัณหาได้ ต้องเข้าถึงซึ่งมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง ไม่ใช่อื่น มรรคน่ะศีล สมาธิ ปัญญา นี่เอง

ที่มา,หน้า ๒๖๓ บ.๑๓ (กัณฑ์ที่ ๑๙ โอวาทปาฏิโมกข์ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

เชื่อในพระธรรมกาย 

ถ้าแม้ว่าปุถุชน หญิงก็ดี ชายก็ดี ทำใจแน่ได้ขนาดนั้นละก็ แปลว่านับถือศาสนาเป็นเบอร์ ๑ ไม่มี ๒ มาเทียมละ แน่นขนาดนั้น แน่นแค่ไหน แน่นไปจริงๆ  เชื่อในพระตถาคตเจ้า เชื่อในพระธรรมกาย ลงไปแค่ชีวิต แน่นแค่ชีวิต แม้จะตายเสีย ก็ตายไปเถอะ ที่จะไม่ให้เชื่อพระธรรมกายละก็เป็นไม่ได้เด็ดขาด ฆ่าเสียก็ยอม ตายก็ตายไป ให้เชื่อกันจริงลงไปอย่างนี้ อย่างนี้ได้ชื่อว่า ตั้งมั่น

ด้วยดีแล้วในพระตถาคตเจ้า นี้เป็นข้อต้น…

ที่มา,หน้า ๒๘๕ บ.๑๕ (กัณฑ์ที่ ๒๑ อริยธนคาถา ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ธรรมะอยู่ที่ศูนย์กลางกาย

พวกเรานี่มันสงสัยทุกคนนั่นแหละ ธรรมมากมายนัก โน่นก็ธรรม นี่ก็ธรรม ไม่รู้จะไปเอาธรรมที่ไหนแน่ ไม่รู้จะเอาธรรมที่ไหนแท้ๆ นี้ธรรมอันนี้แหละเป็นตัวจริงละ ให้เอาใจติดอยู่ตรงนี้แหละ อย่าไปเที่ยวหาอื่นให้มันอื่น จากศูนย์กลางกายมนุษย์ กลางกายของตัวไปเลย

ตรงนั้นแหละ เอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ายังไม่เห็น นานๆ เข้าก็เห็นเอง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเอง…

ที่มา,หน้า ๒๙๓ (กัณฑ์ที่ ๒๒ อุทานคาถา ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

เห็นด้วยตาธรรมกาย

เห็นไม่มีที่สิ้นสุด รู้ไม่มีที่สิ้นสุด เห็น จำ คิด รู้ เท่ากันเห็นไปแค่ไหน รู้ไปแค่นั้น จำไปแค่ไหนรู้ไปแค่นั้น คิดไปแค่ไหนรู้ไปแค่นั้น เท่ากัน ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน นี่อย่างนี้เรียกว่าวิปัสสนา เห็นอย่างนี้เห็นด้วยตาธรรมกาย แปลว่าเห็นแจ้งเห็นวิเศษ

ถ้าไม่ถึง ไม่รู้รสชาติของนิพพานทีเดียว ถ้ามีธรรมกายแล้ว ยินดีนิพพานได้ นิพพานเป็นที่สงัด เป็นที่สงบ เป็นที่เงียบ เป็นที่หยุดทุกสิ่ง ถึงนิพพานแล้ว สิ่งที่ดีจริงอยู่ที่นิพพานทั้งนั้น.

ที่มา,หน้า ๓๑๖  (กัณฑ์ที่ ๒๔ ติลักขณาทิคาถา ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ทำจริง ได้ทุกคน

พระก็ดี เณรก็ดี ทำจริงก็เป็นทุกคนเท่านั้นแหละ จริงแค่ไหนล่ะ จะเป็นทุกคนน่ะ จริงแค่ชีวิตซิเป็นทุกคน จริงอย่างไรล่ะ นั่งลงไปประเดี๋ยวก็ได้รู้จริงกันละ นั่งลงไป เมื่อยเต็มที เอ้าเมื่อยก็เมื่อยไป ปวดเต็มที เอ้าปวดก็ปวดไป ทนไม่ไหว เอ้าไม่ไหวก็ทนไป ทนให้ไหว มันจะแตกก็แตกเดี๋ยวนี้ ดับให้มันดับเดี๋ยวนี้ ไม่ถอยเลย ให้เอาจริงเอาจัง ต้องเป็นทุกคน ไม่ต้องไปสงสัยล่ะ.

ที่มา,หน้า ๓๖๒ บ.๑๙ (กัณฑ์ที่ ๒๗ มงคลสูตร ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี

โลกที่จะได้รับความสุขใจก็ต้องหยุด ตามส่วนของโลก

ธรรมที่จะได้รับความสุขก็ต้องหยุด ตามส่วนของธรรม

ท่านได้แนะนำไว้ตามวาระพระบาลีว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ 

สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี

หยุดอันนั่นเองเป็นตัวสำคัญ เพราะเหตุนั้นต้องทำใจให้หยุด

(ที่มา หลักการเจริญภาวนา สมถวิปัสสนาฏรรมฐาน น.๙๐๙ บ.๑๙)

 

ดวงธรรมนั้นแหละเป็นที่พึ่งสำคัญ

ดวงธรรมผ่องใสสะอาดสะอ้าน กายต่างๆนั้น ก็รุ่งโรจน์โชตนาการ

ธรรมดวงนั้นซูบซีดเศร้าหมอง กายมนุษย์ก็ไม่ผ่องใสซอมซ่อไม่สวยงาม

น่าเกลียดน่าชังไป เพราะธรรมดวงนั้นสำคัญนัก

ธรรมดวงนั้นเป็นชีวิตของมนุษย์ 

ดวงธรรมนั้นแหละเป็นที่พึ่งสำคัญ

(ที่มา สิ่งที่เป็นเกาะเป็นที่พึ่งของตน น.๘๙๔)

 

ธรรมนั่นแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ  ธรรมนั่นแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

เพราะธรรมคือความดี คุณธรรมให้ผลตามกาล ดีฝ่ายเดียวให้ผลเป็นสุขฝ่ายเดียว

เทศนาธรรมที่พระองค์ตรัสเทศนา ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในเบื้องปลาย ท่านวางหลักไว้ ไพเราะในเบื้องต้นคือศีล บริสุทธิ์กายวาจาเรียบร้อยดีไม่มีโทษ ตลอดจนกระทั่งถึงดวงศีล ไพเราะในท่ามกลางคือสมาธิ ตลอดจนกระทั่งถึงดวงสมาธิ ไพเราะในเบื้องปลายคือปัญญา ตลอดจนกระทั่งถึงดวงปัญญา

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๘๑ – ๘๒ (กัณฑ์ที่ ๑๒ ธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม ๑๒ มกราคม ๒๔๙๗)

 

เข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติ

เมื่อบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ไม่มีร่องเสียแล้ว ถ้ากลั่นเข้ามาถึงเจตนา เจตนาก็บริสุทธิ์ บังคับกายบริสุทธิ์ บังคับวาจาบริสุทธิ์ บังคับใจบริสุทธิ์ นั่นก็ยังเป็นทางปริยัติอยู่ ยังไม่ใช่ทางปฏิบัติ

เข้าถึงทางปฏิบัติ เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ สำเร็จมาจากบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ สำเร็จมาจากเจตนา เป็นดวงใสเท่าฟองไข่แดงของไก่ ใสเป็นกระจกส่องเงาหน้า นี่ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถ้าว่าห่างจากธรรมนั้นไม่รับรอง ถ้าติดอยู่กับธรรมนั้นรับรองทีเดียว นั่นแหละ ธัมโม ละ

เรียกว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมดวงนั้น

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๘๕ – ๘๖ (กัณฑ์ที่ ๑๒ ธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม ๑๒ มกราคม ๒๔๙๗)

 

ทำใจให้หยุด

ภาวนํ ภาเวติ ทำให้จริง ให้หยุดให้นิ่ง ทำให้มีให้เป็นขึ้น กี่คน ๆ ก็สงบนิ่ง เมื่อสงบนิ่งแล้ว คนมีสักเท่าไรก็ไม่รกหูรกตา ไม่รำคาญไม่เดือดร้อน เป็นสุขสำราญเบิกบานใจอยู่เป็นนิจ นี่เขาเรียกว่าภาวนา ทำใจให้หยุดสงบ หยุดสงบแล้วไม่ใช่แต่เท่านั้น หยุดอยู่สงบ หาเรื่องทำ จะได้ทรัพย์สมบัติมาเลี้ยงกันอีก ให้พวกเขาอยู่เป็นสุขสำราญ เครื่องกินเครื่องใช้ไม่ขาดตกบกพร่อง

จะให้เป็นคนสมบูรณ์อยู่เสมอ ก็ต้องใช้วิชาวิปัสสนาภาวนา หาปัญญาแก้ไขให้ทานในวันต่อไป ไม่ให้หมดให้สิ้นไป เมื่อให้ทานไม่หมดไม่สิ้นไปเช่นนี้ พวกพ้องก็มากขึ้นเป็นลำดับ ภาวนานั่นแหละจะช่วยเขาได้ทุกสิ่งทุกประการ

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๔ – ๔๕  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

 

หมวด 4 หลักธรรมะและการใช้ชีวิตในทางพระพุทธศาสนา

ความเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์

เมื่อใดเห็นตามความจริงว่า ความเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข เมื่อรู้ว่าความเกิดนั่นเป็นทุกข์แล้วเมื่อใด เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ เมื่อเหนื่อยหน่ายในทุกข์ เบื่อในทุกข์แล้ว ไม่อยากได้ในเบญจขันธ์เหล่านั้น ปล่อยเบญจขันธ์เหล่านั้น นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นหนทางหมดจดพิเศษ

ที่มา,หน้า ๑๓๗ บรรทัดที่  ๖  (กัณฑ์ที่ ๙  เบญจขันธ์ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖)

 

ธรรมะประจำตัว

คิดถึงแต่สมบัติบ้าๆ เข้าใจแต่สิ่งหยาบๆ เที่ยวคว้าเรื่อยเปื่อยทีเดียว วุ่นวายไปตามกัน เพราะเหตุว่าไม่มีธรรม ๔ อย่างนี้ อยู่ในตัว ถ้ามีธรรม ๔ อย่างนี้ประจำอยู่ในตัวแล้ว ไม่วุ่นวาย ไม่คลาดเคลื่อน แต่อย่างหนึ่ง อย่างใด ยิ้มกริ่มทีเดียว เพราะไปเจอบ่อทรัพย์ใหญ่เข้าแล้ว  มีธรรม ๔ ประการอยู่ในตัว คือ เป็นคนเชื่อในพระตถาคตเจ้า, มีศีลอันดีงาม, เลื่อมใสในพระสงฆ์ , ความเห็นของตัวให้ตรงไว้ เห็นธรรมนั่นเอง นี่แหละนักปราชญ์ทั้งหลายเชิดชู กล่าวว่าบุคคลนั้น ไม่ใช่เป็นคนจน  ถ้าเราไม่อยากเป็นคนจน อยากเป็นคนมั่งมีแล้ว ต้องมีธรรม 4 ประการนี้ อย่าให้เคลื่อน

ที่มา,หน้า ๒๙๐ บ.๒๗ (กัณฑ์ที่ ๒๑ อริยธนคาถา ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ผู้มีปัญญา 

ผู้มีปัญญารู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สูงและต่ำ ดีชั่ว ผิดชอบ เมื่อเราตั้งอยู่ในความเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องมีใจโอบอ้อมอารีต่อผู้น้อย ต้องมีใจอย่างนั้น เราเป็นผู้น้อยก็ต้องตั้งอยู่ในความเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ อย่าถือเอาแต่ตัวของตัวไม่ได้ ต้องเคารพคาราวะซึ่งกันและกัน ผู้น้อยผู้ใหญ่เป็นลำดับลงไป เคารพซึ่งกันและกันตามหน้าที่ ตามพรรษา อายุ ตามคุณธรรมนั้นๆ นั่นเรียกว่ามีปัญญา

 

ทุกข์ทางร่างกาย

ทุกข์น่ะมีจริงๆนะ หมดทั้งร่างกายนี้ทุกข์ทั้งก้อน หรือใครว่าสุข ลองเอาสุขมาดู ก็จะไปหยิบเอาทุกข์ให้ดูทั้งนั้น ตลอดจนกระทั้งชาติ เกิดก็เป็นทุกข์ ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ เมื่อเกิดแล้วก็มีแก่ มีเจ็บ มีแปรไปตามหน้าที่ ก็ออกจากทุกข์นั่น ทั้งนั้น ไม่ใช่ออกจากสุข ต้นนั่นเป็นทุกข์ทั้งนั้น เกิดนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ล่ะ ต้องกำหนดรู้มันไว้.

ที่มา,หน้า ๓๒๕ บ.24  (กัณฑ์ที่ ๒๔ ติลักขณาทิคาถา ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ไม่ประมาทในความเห็นผิด

ไม่ประมาทในความเห็นผิด ทำความเห็นถูกให้บังเกิดมี ไม่ประมาทในความทุจริต ทำความสุจริตให้บังเกิดมี การไม่ประมาทนั้นจบพระไตรปิฎก คือ วินัยปิฎก สุตตันนปิฎก ปรมัตถปิฎก

ความดีมีมากน้อยเท่าใด รวมอยู่ในความไม่ประมาทสิ้น ความชั่วมีมากน้อยเท่าใด รวมอยู่ในความประมาทสิ้น.

ที่มา,หน้า ๓๔๐ บ.- (กัณฑ์ที่ ๒๖ มงคลสูตร ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ดื่มสุราทำให้เกิดโทษ

สุรามันเกิดขึ้นในประเทศใด ประเทศนั้นย่อยยับหนา สุรามันไปติดยู่กับคนใดละคนนั้นก็ย่อยยับหนา หญิงก็ดีชายก็ดี ติดสุราดื่มสุราละก็ ย่อยยับหนา เอาตัวรอดไม่ได้ นี่ร้ายนัก เขาเรียกว่าฆ่าตัวเองทั้งเป็น ทำลายตัวเองอย่างดื้อๆ ตัวเองดีๆทำให้เป็นคนเสีย ตัวเองบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ ทำให้ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ กลายเป็นคนบ้าเสียแล้ว นี่แหละเรียกว่าดื่มสุราละ มีโทษมากนัก เหลือที่จะคณนานับทีเดียว เพราะฉะนั้น ควรเว้นขาดจากใจ ต้องเว้นให้ขาดทีเดียว.

ที่มา,หน้า ๓๔๔ บ.๑๕ (กัณฑ์ที่ ๒๖ มงคลสูตร ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

ใจใส เงินไหลเข้ามาเอง

ถ้าว่าจิตหยุดเสียได้ละก็ เขมํ ทีเดียว เกษมผ่องใสเหมือนอย่างกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้าทีเดียว ถ้าจิตผ่องใสขนาดนั้นแล้ว ไม่ต้องทำงานอะไรมากมายไปหรอก มันไหลเข้ามาเอง เงินนะ ไม่เดือดร้อน มีแต่เงินเข้า เงินออกไม่มีนะ ออกก็เล็กๆน้อยๆเข้ามามาก

ทำใจให้ใสอยู่ท่าเดียวแหละ ใจเป็นแดนเกษมอยู่เสมอไปอย่างนี้ ให้ตั้งจิตให้อยู่ ให้ดูของตัวไว้ให้ผ่องใสอยู่อย่างนั้น เงินทองไหลมาเป็นมงคลแท้ๆ.

ที่มา,หน้า ๓๕๔ บ.๑๘ (กัณฑ์ที่ ๒๗ มงคลสูตร ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗)

 

เราผู้ตถาคตคือธรรมกาย

พระองค์ทรงรับสั่งกับ พระวักกลิภิกขุว่า อเปหิ วกฺกลิ วักกลิจงถอยออกไป อิมํ ปูติกายํ ทสฺสนํ มาดูใยเล่าร่างกายตถาคตที่เป็นของเปื่อยเน่า โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ   แนะสำแดงวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ  ผู้ตถาคตคือธรรมกาย นั่นแน่ะบอกตรงนั้นแน่ะ ว่าเราผู้ตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายนั้นเองเป็นตัวตถาคตเจ้า.

 

อย่าประมาท

อย่าเลินเล่อ อย่าเผลอตัว อย่าประมาท ถ้าว่าประมาทเลินเล่อเผลอตัวแล้ว

ความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ต้องไม่ประมาทจึงจะใช้ได้

ความไม่ประมาทนั้นเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวไม่เผลอ เป็นตัวไม่ตาย

เพราะความประมาทนั้นเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเผลอ เป็นตัวตาย

นี่เพราะเป็นอยู่ดังนี้..

(ที่มา โอวาทสุดท้าย เมื่อ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๐๐ น.๙๐๒ บ.๒๓)

 

ดีที่สุด คือพระพุทธเจ้า ชั่วที่สุด คือมาร

ดีที่สุด คือพระพุทธเจ้า ชั่วที่สุด คือมาร

มารปล่อยสายมาปกครองมนุษย์

มนุษย์ตกเป็นบ่าวเป็นทาสของ โลภะ โทสะ โมหะ

(ผลคือความเสียหาย) มีแก่ มีเจ็บ มีตาย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะนายโลภะ โทสะ โมหะ เขาปกครอง

เขาสั่งให้ทำเช่นนั้น เอาบ้านเอาเมืองมาล่อ เอาความเจ็บความตายมาให้

ปราบมารเหล่านี้ลงเสียได้ มนุษย์จะได้อยู่เย็นเป็นสุข

(ที่มา โอวาทแสดงในวันคล้ายวันเกิดหลวงพ่อ ๗ ตุลาคม ๒๔๙๘ น.๙๘๐)

 

พระของขวัญ

เอาใจจรดเข้าที่พระของขวัญนั้น ขออาราธนา พระองค์ได้ทรงโปรด

ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพ่อค้า หญิงก็หม่อมฉันเป็นแม่ค้า

การค้าของข้าพระพุทธเจ้า ขอให้กว้างขวางเต็มประเทศไทย

ล้นประเทศไทย ขอให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม ดังไปถึงพระนิพพาน

ก่อนจะค้าขายภาวนาอย่างนี้ทุกคราวไป ขายของ ขายง่าย ขายดาย

ขายสะดวกเหมือนเทน้ำเทท่า..

(ที่มา โอวาทเนื่องด้วย พระของขวัญ น.๘๘๑ บ.๓)

 

ใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง

ถ้าเราจะทำสิ่งใดด้วยกายละก็เอาปัญญาสอดส่องตรองเสียก่อนหนา

ถ้าว่าร้อนเราละก็อย่าทำ ร้อนเขาอย่าทำ ร้อนทั้งเราทั้งเขาล่ะอย่าทำ

ถ้าไม่ร้อนละก็ทำเถิด

ท่านจะคิดสิ่งใด จะพูดสิ่งใดด้วยวาจา

ต้องเอาปัญญาเข้าสอดส่องตรองซะก่อนหนา

ถ้าว่าร้อนเราอย่าพูด ร้อนเขาอย่าพูด ร้อนทั้งเราทั้งเขาอย่าพูด

ถ้าว่าไม่ร้อนล่ะก็พูดเถิด

ท่านจะคิดสิ่งใดทางใจ ถ้าว่าร้อนเราอย่าคิด ร้อนเขาอย่าคิด ร้อนทั้งเราทั้งเขาอย่าคิด

ถ้าไม่ร้อนเราร้อนเขาล่ะก็คิดเถิด

(ที่มา โอวาทปาฏิโมกข์ ๒๗ มกราคม ๒๔๙๙ น.๘๔๘ บ.๒)

 

ตอบแทนคุณบิดามารดา

ชื่อว่าแทนคุณแท้ๆ

มารดาบิดาไม่มีศรัทธา ให้มีศรัทธาขึ้น

ไม่มีศีล ให้มีศีลขึ้น ไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสขึ้น

ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษขึ้น

๔ ประการนี้วางหลักไว้ ผู้หญิงก็แทนคุณบิดามารดาได้

ผู้ชายก็แทนคุณบิดามารดาได้

(ที่มา รัตนะ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๗ น.๘๓๒ บ.๑๐)

 

เงินทองข้าวของมาหาเอง

พระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องไปหาเงินทองข้าวของ

เมื่อประพฤติถูกส่วนเข้าแล้ว เงินทองข้าวของมันมาหาเอง

ข้าวปลาอาหารมาหาเองทั้งนั้น จะไปอยู่ในป่าในดอนในดงที่ไหนก็ไป

แต่เงินทองข้าวของมาหาเองทั้งนั้น นี่ทางพระพุทธศาสนา

แต่ว่าเดินลึก สงเคราะห์อนุเคราะห์มหาชน

อนุชนทั้งหลายให้รู้ธรรมกายจริงๆ

(ที่มา รัตนะ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๗ น.๘๑๙ บ.๑๕)

 

วาจาไพเราะ

เมื่อเราผู้มีบุญเช่นนี้ ไปอยู่ในสถานที่ใด ลูกหลาน พวกพ้องวงศาคณาญาติก็มาก เราต้องอาศัยวาจาที่ไพเราะเสนาะโสต เมื่อกล่าววาจาอันใดออกไปแล้ว เป็นที่ดึงดูดใจ เหนี่ยวรั้งใจ เป็นที่สมัครสมานในกันและกัน ไม่เป็นที่กระทบกระเทือนในกันและกัน มีวาจาเช่นนั้นเรียกว่าเป็นคนสุภาพ เป็นคนมีมารยาท มีถ้อยคำวาจาเป็นหลักเป็นประธาน อยากจะฟังแล้ว อยากจะฟังอีกอยู่ร่ำไป ดังนี้เรียกว่า     ปิยวาจา วาจาไพเราะอย่างนี้แหละ เป็นของสำคัญนักในหมู่มนุษย์ จำเป็นจะต้องใช้.

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๖ – ๒๑๗ (กัณฑ์ที่ ๖ สังคหวัตถุ  (๒๐ กันยายน ๒๔๙๖)

 

ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์

เราควรประพฤติอย่างไร จึงเรียกว่า ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกันในโลกนี้ มีพวกเท่าไรประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่กันและกันเท่านั้น อย่าแต่ความสุขส่วนตัวผู้เดียว ให้ความสุขเสมอทั่วหน้ากัน

เริ่มจากพ่อแม่แก้ไขให้ลูกเป็นปริญญาหมดทุกคน มีการงานชั้นสูงทั้งนั้น เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ให้เป็นสุขเหมือนเทวดาได้ นี้ได้ชื่อว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลานก่อน วงศาคณาญาติก็ประพฤติเช่นนั้น ให้ประโยชน์เช่นนั้น แก้ไขให้ต่างเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องพึ่งใคร ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน มีวิชาความรู้ ให้ความสุขแก่มนุษย์เพื่อนบ้านด้วยกัน เขาจะรุ่งเรืองอย่างไร แก้ไขอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน.

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๗ – ๒๑๘ (กัณฑ์ที่ ๖ สังคหวัตถุ  (๒๐ กันยายน ๒๔๙๖)

 

สงเคราะห์ชาวโลก

ความสงเคราะห์ในโลกทั้งหลายนี้ เหมือนลิ่มสลักเพลารถที่แล่นไป ถ้าลิ่มสลักเพลาไม่มีเสียแล้ว กงรถก็หลุดจากเพลา แล่นไปไม่ได้ ถ้าลิ่มสลักเพลามีอยู่แล้ว กงรถนั้นก็ไปสะดวก ไม่ขัดข้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด

โลกจะได้รับความสุข เพราะอาศัยความประพฤติทั้ง ๔ อย่าง คือให้ทาน กล่าววาจาไพเราะ ประพฤติให้เป็นประโยชน์ในกันและกัน ความประพฤติตนให้สม่ำเสมอในธรรมนั้นๆ ในบุคคลนั้นๆ ไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ จะเข้าไปในหมู่ไหนพวกไหน เราเป็นหมู่นั้นพวกนั้นไปหมด ปรากฏเป็นแบบเดียวกัน เรามีพวกมากเท่าไรก็เป็นคนเดียวกันไปหมด ไม่แยกแตกจากกัน

บัณฑิตใดพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งความสงเคราะห์ทั้งหลาย บัณฑิตจึงถึงซึ่งความเป็นใหญ่ เป็นผู้น่าสรรเสริญ.

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๘ – ๒๒๐ (กัณฑ์ที่ ๖ สังคหวัตถุ  ๒๐ กันยายน ๒๔๙๖)

 

บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา

เมื่อเราได้ถวายทานแล้ว ได้รักษาศีล ได้เจริญภาวนาแล้ว ก็ต้องให้เห็นผลทาน ให้เห็นผลศีล และให้เห็นผลของการเจริญภาวนา จึงจะได้ชื่อว่า เราทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนาแล้ว ใช้บุญใช้ศีล ใช้ภาวนาเป็น อย่าเกียจคร้าน จงหมั่นบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนาไว้ให้เสมอ เพื่อเราจะได้รับความสุข ทั้งในชาตินี้แบะในชาติหน้า

ที่มา: มรดกธรรม เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๕๘  (กัณฑ์ที่ ๓๐ ภัตตานุโมนากถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)