พระภิกษุคือใคร

พระคือผู้ที่อุปสมบทและศึกษาเล่าเรียนพระศาสนา มีชีวิตความเป็นอยู่บำเพ็ญตบะเป็นนักบวชภายในวัด การพักนั้นอาจจะปลีกวิเวกอยู่รูปเดียวหรืออยู่ร่วมกันหลายๆ รูปในที่พักสงฆ์เดียวกันก็ได้  

ในภาษาบาลีเรียกพระว่า “ภิกษุ” ซึ่งหมายถึง “ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร”  ผู้ที่จะเป็นภิกษุได้จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการพิธีอุปสมบทโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยก่อน เช่น ต้องมีอายุ ๒๐ ปี ไม่มีโรคร้ายแรง หรือโรคติดต่อ  ต้องมีอุปัชฌาย์รับรอง ต้องทำพิธีในอุโบสถ

วัตถุประสงค์ของการบวช  

1.เพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเอง

2.ศึกษาและปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อทำให้กาย วาจา ใจบริสุทธิ์ สงบ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  มุ่งไปสู่เป้าหมายของชีวิตคือ กำจัดกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพาน

วิถีชีวิตของพระภิกษุ

การดำรงชีวิตของพระภิกษุนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เช่น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เพียงสามผืน ปลงผม  เพื่อที่จะตัดอาลัยและภาระผูกพันที่ลุ่มหลงอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสและปลดปล่อยตนเองให้พ้นพันธนาการที่มีแต่ความทุกข์วิตกกังวลต่างๆในการดำเนินชีวิตแบบชาวโลก  ถือว่า เป็นชีวิตที่เป็นต้นแบบ  เปรียบเสมือน “ต้นไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อย”

“ต้นไม้ใหญ่” จะแผ่กิ่งก้านสาขากว้างขวาง ผู้ที่มาอยู่ภายใต้ร่มจะได้รับความร่มเย็นไปด้วย  กล่าวคือ พระภิกษุเป็นต้นแบบที่ดี ฝึกตนให้สมบูรณ์พร้อมด้วยศีลธรรมและจริยาวัตรอันดีงาม มีน้ำใจเสียสละอันยิ่งใหญ่ โดยอุทิศชีวิตเป็นครูสอนศีลธรรม แนะนำความรู้วิชชาชีวิตต่อมหาชน ซึ่งผู้ที่นำเอาธรรมะไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็จะได้ประโยชน์ต่อชีวิตมากมาย

“กินน้ำน้อย”  หมายถึง พระภิกษุท่านจะดำรงชีพแค่เพียงปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ด้วยการบิณฑบาต ตามแต่ที่ผู้มีจิตศรัทธาจะถวายหรือสนับสนุน  โดยไม่มีความฟุ้งเฟ้อ หรือฟุ่มเฟือย บริโภคเพียงเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตน

ข้อปฏิบัติของพระภิกษุ

การเป็นพระภิกษุนั้นจะต้องถือศีลทั้งหมด 227 ข้อซึ่งเป็นข้อห้ามของพระภิกษุสงฆ์เถรวาทตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางข้อกำหนดไม่พึงละเมิดไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคณะสงฆ์ และเพื่อเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานอันเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์

เมื่อพระภิกษุล่วงละเมิดศีล เรียกว่า “อาบัติ” จะต้องได้รับโทษตามสถานหนัก-เบาตามข้อกำหนด ถ้ามีโทษหนักก็ให้ขาดจากความเป็นพระสงฆ์ หรือโทษเบาก็ให้แก้ได้โดยกล่าวแสดงความผิดของตนกับพระภิกษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงถึงความสำนึกผิดและเพื่อจะตั้งใจประพฤติตนใหม่

หน้าที่ของพระภิกษุ

มี 3 ประการ  คือ

  1. ศึกษาธรรมะ ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาฝึกฝน แก้ไขอุปนิสัยที่ไม่ดี และพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีความคิด คำพูด และการกระทำที่ดี เป็นต้นแบบให้กับคนในสังคม
  2. การปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติตามทฤษฎีที่ได้ศึกษาเล่าเรียน เพื่อฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ให้มีพลัง เพื่อนำไปใช้ในการข่ม หรือกำจัดกิเลส เช่น โลภ โกรธ หลง ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง และสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด
  3. การสั่งสอนเผยแผ่ธรรมะ เป็นการทำหน้าที่ “ครูสอนศีลธรรม” ให้แก่ชาวโลก โดยห้ามปรามจากการทำความชั่ว ให้หมั่นทำความดี และทำใจให้ผ่องใส เพื่อให้เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง

การศึกษาธรรมะ เปรียบเสมือนการดูแผนที่ เพื่อให้รู้ว่ามีถนนกี่สาย สายไหน นำไปสู่ที่ใดเป็นต้น

การปฏิบัติ เปรียบเสมือนการที่เดินทางตามที่แผนที่บ่งบอกไว้ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนต้องการ 

ส่วนการสั่งสอนเผยแผ่ธรรมะนั้น เปรียบเสมือนการแนะนำวิธีการให้กับผู้อื่น เพื่อประโยชน์แก่มหาชน จะได้ไปสู่เป้าหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด 

กล่าวโดยสรุป พระภิกษุ คือ “ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร” แล้วตัดสินใจมาบวชในพระพุทธศาสนา โดยใช้ชีวิตอยู่ในศีลธรรม ตามปัจจัย4 จากผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนถวายมา เพื่อศึกษาธรรมะ นำมาปฏิบัติ ฝึกฝน ขัดเกลา พัฒนากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ และทำหน้าที่เป็นครูสอนศีลธรรม ซึ่งผู้ที่รับฟังธรรมะนั้นแล้ว นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้ว จะดำเนินไปตรงตามเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงโดยไม่เบียดเบียนใคร เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริง  นอกจากนี้ ความดีนี้ยังแผ่ขยายไปยังบุคคลรอบข้าง ครอบครัว สังคม ประเทศ และเป็นผลให้โลกของเราเกิดสันติภาพในที่สุด